เคยได้ยินเสียงบ่นเสมอว่า “เบื่อจังเลย กินอะไรก็ไม่อร่อย กินไม่ลง ไม่อยากกินเลย” หรืออีกหลาย ๆ ประโยคที่แสดงให้ผู้ฟังรู้สึกว่าผู้กล่าวมีอาการเบื่ออาหาร กินอาหารได้น้อยลง แต่จะมีสักกี่คนที่เข้าใจในปัญหาและหาทางแก้ปัญหาเหล่านั้น หรือจะเกิดอะไรขึ้นถ้าปล่อยอาการเหล่านั้นอยู่กับตัวเราเป็นระยะเวลานาน
ใครบ้างมีปัญหาเบื่ออาหาร ?
คนที่ไม่เคยมีอาการเช่นนี้จะไม่เข้าใจเลยว่าอาการเบื่ออาหาร กินไม่ลง เป็นอย่างไร เพราะแทบทุกคนกินอาหารวันละ 2-3 มื้อหรือมากกว่า ดังนั้นเมื่อถึงเวลาอาหารก็จะรู้สึกหิว ท้องร้อง หรือแสบท้องเพราะน้ำย่อยถูกขับออกมาแล้ว แต่บางคนไม่ต้องถึงเวลาอาหารก็กิน และกินได้ตลอดเวลาแม้จะไม่ใช่เวลาอาหาร ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้อ้วน
ทุกคนมีโอกาสเกิดความรู้สึกเบื่ออาหารได้ เช่น เมื่อสมัยเด็ก ยังเรียนหนังสือ โดยเฉพาะตอนใกล้สอบซึ่งต้องดูหนังสือหามรุ่งหามค่ำ ทำให้กินอาหารได้น้อย
เมื่อเติบโตขึ้น ความเบื่ออาหารจะปรากฏเมื่อเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น เป็นไข้ เป็นหวัด หรือไม่สบอารมณ์คนใกล้ชิด เพื่อนร่วมงาน มีปัญหาในการทำงาน ซึ่งอาการเบื่ออาหารจะเกิดในระยะเวลาสั้นๆ เมื่อร่างกายปรกติหรือแก้ปัญหาได้แล้ว ความอยากกินอาหารก็กลับมาเหมือนเดิม หรือกินมากขึ้นกว่าเดิมอีก
การเบื่ออาหารในระยะเวลาสั้นๆ เช่นนี้ไม่ทำให้เกิดปัญหาแก่สุขภาพเท่าใดนัก แต่คนบางกลุ่มเมื่อเบื่ออาหารจะมีผลถึงสุขภาพหรือเจ็บป่วยได้ กลุ่มคนเหล่านั้นก็ได้แก่
- ผู้สูงอายุ ปัญหาที่ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหารมีหลายประการ เช่น การถูกทอดทิ้งให้อยู่ลำพัง ไม่มีใครหาอาหารให้ กินอาหารซ้ำๆ รายได้น้อยลง ฟันมีปัญหา เคี้ยวอาหารไม่ได้
- ผู้ป่วย ทั้งผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวที่บ้านและผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งจะรู้สึกเบื่ออาหารจากสาเหตุต่างๆ เช่น วิตกกังวลกับความเจ็บป่วยและการรักษา แปลกสถานที่ อาหารที่ได้รับบริการจากโรงพยาบาลไม่ตรงกับบริโภคนิสัย หรือผู้ป่วยบางคนได้รับยาที่ใช้ในการรักษา และผลข้างเคียงของยาทำให้เบื่ออาหาร เช่น การได้รับเคมีบำบัด
- เด็กทั้งก่อนวัยเรียนและในวัยเรียน เด็กในวัยนี้ส่วนใหญ่ร่างกายและจิตใจกำลังเปลี่ยนแปลง ห่วงเล่นมากกว่ากิน จึงเล่นมากจนเบื่ออาหารและกินอาหารได้น้อย ถ้าพ่อแม่หรือผู้ดูแลไม่ให้ความสนใจ เด็กจะกินอาหารได้น้อยหรือไม่กินอาหารเลย ทำให้ได้รับพลังงานและสารอาหารน้อยลงไปด้วย
- เด็กที่เจ็บป่วย ทุกครั้งที่มีอาการเจ็บป่วย เด็กมักจะกินอาหารได้น้อยหรือบางรายไม่ยอมกินอาหารเลย ทำให้ระยะเวลาในการเจ็บป่วยยาวนานขึ้น หรือมีโรคแทรกได้ง่าย
ปัญหาจากความเบื่ออาหาร
ผู้ที่มีอาการเบื่ออาหารแสดงว่ากินอาหารได้น้อยลงกว่าปกติ พลังงานและสารอาหารที่ร่างกายได้รับจะน้อยลง ไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในขณะนั้น ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแตกต่างไปตามสภาพร่างกายของแต่ละคน เช่น
ผู้ที่เบื่ออาหารเป็นคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่ามาตรฐานหรืออ้วน ความเบื่ออาหารจะทำให้น้ำหนักลดลง ผู้เบื่ออาหารมีน้ำหนักตัวปกติ จะทำให้น้ำหนักตัวลดลง ในระยะยาวจะเกิดภาวะขาดพลังงานและสารอาหาร ความแข็งแรงและความต้านทานโรคลดลง ทำให้เจ็บป่วยง่ายขึ้น
ผู้เบื่ออาหารอยู่ในภาวะเจ็บป่วย การรักษาและฟื้นฟูให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาพเดิมต้องใช้เวลานาน เกิดโรคแทรกซ้อนหรือติดเชื้อได้ง่ายจากปัญหาภูมิคุ้มกันลดลง
ผู้เบื่ออาหารอยู่ในวัยสูงอายุ ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหารน้อย ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้ภูมิต้านทานลดลง เกิดการติดเชื้อได้ง่าย
ผู้เบื่ออาหารเป็นเด็ก ทำให้ขาดพลังงานและสารอาหาร เกิดความเจ็บป่วยบ่อย ในระยะยาวการเจริญเติบโตช้าลง ส่งผลถึงความเจริญของสมอง และการเรียนรู้ช้าลงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
การแก้ไข
เมื่อเกิดความเบื่ออาหารจนทำให้น้ำหนักลดลง คงต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ถ้าเป็นเรื่องความเจ็บป่วยก็ต้องพบแพทย์เพื่อตรวจให้ทราบว่าเป็นโรคอะไรกันแน่และทำการรักษา หากอยู่ในระหว่างรักษาตัวและมีอาการเบื่ออาหารร่วมด้วย คงเป็นเรื่องยากที่จะบอกว่าให้พยายามกิน พยายามกลืน เพราะกินไม่ลง กลืนไม่ลงจริง ๆ
ปัญหาเช่นนี้เคยเกิดกับตัวผู้เขียน แล้วไม่ทราบว่าเกิดจากสาเหตุอะไร น้ำหนักค่อย ๆ ลดลง ในระยะเวลาเพียง 3 เดือนเท่านั้นน้ำหนักลดลงมากกว่าร้อยละ 10 ของน้ำหนักเดิม ทำให้วิตกว่าจะเป็นมะเร็งหรือเปล่า และเป็นที่ไหน เพราะการที่น้ำหนักลดลงมากเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็งจนต้องพบแพทย์ จึงทราบว่าเป็นผลข้างเคียงของยาที่ใช้รักษาอาการอักเสบของข้อหรือโรครูมาตอยด์ จะไม่กินยาเลยก็ไม่ได้ เพราะอาการอักเสบยังไม่หายเป็นปกติ
แพทย์จึงแก้ปัญหาด้วยการลดปริมาณยาลง แต่ความเบื่อก็ไม่ดีขึ้น จึงช่วยตัวเองด้วยการพยายามกินอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่ น้ำหนักก็ยังไม่เพิ่มขึ้น เพราะปริมาณอาหารที่กินก็ยังน้อย ทำให้ได้รับพลังงานไม่พอกับความต้องการของร่างกาย
คนที่เข้าใจว่ากินอาหารให้ครบ 5 หมู่แล้วร่างกายจะแข็งแรงก็ควรทำความเข้าใจด้วยว่า อาหาร 5 หมู่เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องคำนึงถึงปริมาณอาหารที่กินด้วย
วิตกจริตเรื่องมะเร็งยังไม่หาย จึงได้ทำการตรวจทุกระบบของร่างกายอย่างละเอียด ทั้งลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ กระเพาะอาหาร ตับ ไต รวมถึงมดลูกด้วย ปรากฏว่าทุกระบบปกติดี เป็นการยืนยันว่าน้ำหนักที่ลดลงนั้นเป็นผลข้างเคียงของยาจริง ๆ ไม่เกี่ยวกับโรคมะเร็งแน่
แต่การจะปล่อยให้น้ำหนักลดลงเรื่อย ๆ ในระยะยาวย่อมไม่ดีต่อสุขภาพแน่ การเปลี่ยนสถานที่กินอาหาร โดยเฉพาะไปกินอาหารกับเพื่อน ๆ ช่วยให้กินอาหารได้มากขึ้นและลดความเบื่ออาหารได้บ้าง การนำอาหารเสริมมาใช้ก็เป็นหนทางหนึ่งที่นำมาแก้ปัญหา แต่ต้องปรึกษาแพทย์หรือนักกำหนดอาหารที่มีความรู้ความเข้าใจด้านอาหารและโภชนาการเพื่อขอคำแนะนำ
อาหารเสริมในที่นี้ไม่ใช่ในรูปของยาเป็นเม็ด ๆ ที่เห็นทั่วไป แต่เป็นอาหารทางการแพทย์ในลักษณะเป็นผง นำมาชงหรือละลายน้ำดื่ม
หรือเป็นน้ำที่เปิดกระป๋องแล้วดื่มได้เลย อาหารผ่านการทดลองทางการแพทย์มาแล้ว จึงปลอดภัยในการใช้ แพทย์จะให้อาหารชนิดนี้แก่ผู้ป่วยที่ไม่สามารถกินอาหารทางปากได้ โดยให้ผ่านสายให้อาหาร ซึ่งในท้องตลาดมีหลายชนิด แต่ละชนิดมีข้อจำกัดในการใช้แตกต่างกัน จึงต้องขอคำแนะนำจากแพทย์หรือนักกำหนดอาหารก่อน และไม่ควรหาซื้อมาใช้เอง
เนื่องจากอาหารมีหลายชนิด แต่ละชนิดให้พลังงานและสารอาหารแตกต่างกัน รวมทั้งมีกลิ่นและรสไม่เหมือนกัน บางชนิดรสดีแต่กลิ่นแรง บางชนิดรสขมแต่กลิ่นหอม คนที่ไม่คุ้นกับกลิ่นและรสจึงไม่สามารถดื่มได้ทั้งที่มีประโยชน์และจำเป็นต้องดื่ม จึงเป็นเรื่องที่ต้องแก้ปัญหาอีกว่าทำอย่างไรจึงจะได้ประโยชน์จากอาหารเสริมหรือดื่มอาหารเสริมนั้นได้
ผู้เขียนเคยแนะนำผู้ป่วยที่ต้องใช้อาหารเสริมว่า ถ้ามีชนิดที่เป็นผงควรเลือกซื้อขนาดบรรจุที่เล็กที่สุด เพื่อทดลองการยอมรับของตนเอง และอย่าเพิ่งสนใจข้อแนะนำปริมาณที่กำหนดให้ใช้ในการชง เพราะปริมาณที่กำหนดไว้อาจจะมากเกินไปสำหรับการใช้ในระยะแรกซึ่งยังไม่คุ้นเคย ทดลองชงในปริมาณน้อยๆ ก่อน ถ้ายอมรับได้จึงค่อยๆ เพิ่มปริมาณ หรืออาจจะผสมกับเครื่องดื่มอื่น เช่น โกโก้ โอวัลติน ชา หรือกาแฟ เพื่อกลบกลิ่นและเสริมให้รสชาติดีขึ้น ลองทำเป็นเครื่องดื่มร้อนบ้าง เย็นบ้าง เพื่อให้มีความหลากหลายและลดความเบื่อลงได้บ้าง
ความรู้สึกเบื่ออาหารอาจเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ แล้วหายได้เอง แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นระยะเวลานานจนทำให้น้ำหนักตัวลดลง ก็จะเกิดปัญหาต่อสุขภาพได้
การสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายทั้งของตนเอง คนใกล้เคียง หรือพ่อแม่ ผู้สูงอายุ เพื่อช่วยแก้ปัญหาเบื่ออาหารซึ่งจะนำไปสู่ปัญหาของสุขภาพในระยะยาวได้เป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม
คุณเคยให้ความสนใจและสังเกตตนเองบ้างหรือเปล่า ?
วันศุกร์ที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น