Powered By Blogger

วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2552

พระพุทธศาสนา


พระพุทธศาสนา หรือ ศาสนาพุทธ เป็นศาสนาที่มุ่งเน้นเรื่องการพ้นทุกข์ และสอนให้รู้จักทุกข์และวิธีการดับทุกข์ ให้พ้นจากอวิชชา (ความไม่รู้ความจริงในธรรมชาติ) อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์จากกิเลสทั้งปวงคือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เน้น การศึกษาทำความเข้าใจ การโยนิโสมนสิการด้วยปัญญา และพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง(ธัมมวิจยะ) เห็นเหตุผลว่าสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี(อิทัปปัจจยตา) และความเป็นไปตามธรรมชาติ และสัตว์โลกที่เป็นไปตามกฎแห่งกรรม ด้วยความไม่ประมาทในชีวิตให้มีความสุขในทั้งชาตินี้ ชาติต่อๆไป(ด้วยการสั่งสมบุญบารมี)ตลอดจนปรารถนาในพระนิพพานของผู้มีปัญญา

  • (สิ่งเคารพสูงสุด) สรณะ (ที่พึ่ง) อันประเสริฐของพระพุทธศาสนาเรียกว่า พระรัตนตรัย ได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และ พระสงฆ์ โดย "พระพุทธเจ้า" ทรงตรัสรู้ "พระธรรม" แล้วทรงสั่งสอนให้พระภิกษุได้รู้ธรรมจนหลุดพ้นตามในที่สุด ทรงจัดตั้งชุมชนของพระภิกษุให้อยู่ร่วมกันอย่างผาสุกด้วยการบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นกติกาในการอยู่ร่วมกันอย่างประชาธิปไตยเพื่อศึกษาพระธรรม(คันถธุระ) และฝึกฝนตนเองให้หลุดพ้น(วิปัสสนาธุระ) เรียกว่า "พระสงฆ์" (สงฆ์ แปลว่าหมู่, ชุมนุม) แล้วทรงมอบหมายให้พระสงฆ์ทั้งหลายเผยแผ่พระธรรม เพื่อประโยชน์สุขของสัตว์โลกทั้งปวง
  • (คัมภีร์)หลักธรรมคำสอนทางพุทธศาสนา ในยุคก่อนจะบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เรียกว่า "พรหมจรรย์" และเรียกว่า "พระธรรมวินัย" หลังจากที่ทรงบัญญัติวินัยในการปกครองคณะสงฆ์แทนศีล๑๐แต่เดิม ประกอบด้วย "พระธรรม" คือความรู้ในสัจธรรมต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้แล้วและได้นำมาแสดงแก่ชาวโลก กับ "พระวินัย" คือกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ทรงบัญญัติไว้สำหรับผู้ที่ออกบวช เพื่อให้ผู้บวชสามารถอยู่ร่วมกันอย่างมีกฏเกณฑ์เป็นคณะสงฆ์ อันเป็นชุมชนตัวอย่างที่ดำเนินชีวิตเพื่อความพ้นทุกข์ โดยมีหมวดอภิธรรมไว้อธิบายคำจำกัดความของศัพท์ในหมวดพระธรรม และมีหมวดอภิวินัยไว้อธิบายคำจำกัดความคำศัพท์ในส่วนพระวินัย จนมาถึงยุคสังคายนาครั้งที่ ๓ ได้มีการบันทึกพระธรรมและพระวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นภาษาบาลี เรียกว่า "พระไตรปิฏก" แปลว่าตะกร้าสามใบ ซึ่งหมายถึง คัมภีร์หรือตำราสามหมวดหลักๆ ได้แก่ ๑. วินัยปิฎก ว่าด้วยวินัยหรือศีลของภิกษุ ภิกษุณี ๒. สุตตันตปิฎก ว่าด้วยพระธรรมทั่วไป และเรื่องราวต่างๆ ๓. อภิธัมมปิฎก ว่าด้วยธรรมะที่เป็นปรมัตถ์ธรรม หรือธรรมะที่แสดงถึงสภาวะล้วน ๆ ไม่มีการสมมุติ วินัยปิฎก จัดเป็นรากของพระศาสนา (ถ้าพระภิกษุประพฤติไม่น่าเลื่อมใสศาสนาก็จะล่มจม) สุตตันตะปิฎก จัดเป็นกิ่ง ใบ ผล ร่มเงาของพระศาสนา (ธรรมะต่างๆย่อมมีประโยชน์หลายอย่างต่างๆกันไปแต่ละคน สามารถพลิกแพลงเพื่อประโยชน์แก่คนหมู่มาก ให้ความร่มเย็น เกิดศาสนาทายาท) อภิธรรมปิฎกจัด เป็นลำต้นของพระศาสนา (ธรรมะที่พลิกแพลงหลากหลายเพื่อนำไปใช้ต่างๆกันไป ย่อมจะทำให้เกิดความแตกแยกทางความคิดได้ต้องมีอภิธรรม ยึดเป็นหลักเทียบเคียงความถูกต้องของหลักการในพระศาสนา)
  • (ผู้สืบทอด)ผู้นับถือศาสนาพุทธที่ได้บวชเพื่อศึกษา ปฏิบัติตามคำสอน(ธรรม)และคำสั่ง(วินัย)และมีหน้าที่เผยแผ่พระธรรมของพระพุทธเจ้า เรียกว่า พระภิกษุสงฆ์ (ชาย) และ พระภิกษุณีสงฆ์ (หญิง) ส่วนผู้นับถือที่ไม่ได้บวชจะเรียกว่าฆราวาส หรือ อุบาสก (ชาย) / อุบาสิกา (หญิง) โดยเมื่อรวมบุคคลสี่ประเภทคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จะเรียกว่า พุทธบริษัท 4 อันหมายถึง พุทธศาสนิกชน พุทธมามกะ พุทธสาวก อันเป็นกลุ่มผู้ร่วมกันนับถือ ร่วมกันศึกษา และร่วมกันรักษาพุทธศาสนาไว้